การจัดประสบการณ์รูปแบบโครงการ Projec Approach
การจัดประสบการณ์แบบโครงการ (Project Approach) เป็นกิจกรรมการสอนที่มุ่งเน้นให้เด็กมีส่วนร่วมและกระตุ้นให้เด็กๆได้เรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งที่เด็กสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเด็กและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเด็กๆ โดยเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติที่เน้นให้เด็กลงมือทำได้ด้วยตนเองและการค้นหาคำตอบในเชิงลึก ในหัวข้อหรือเรื่องที่เด็กสนใจแล้วยังส่งเสริมทักษะและกระบวนการ ทางวิทยาศาสตร์ผ่านการสำรวจการสืบค้น การจดบันทึกและการคิดวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลและความรู้ต่างๆตามเรื่องที่เด็กสนใจผ่านประสบการณ์ตรงที่หลากหลายตลอดจนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะที่สรุปออกมาเป็นชิ้นงาน กระบวนการจัดกิจกรรมการสอนแบบโครงการมี กิจกรรมทั้งหมด 3 ระยะ มี ๕ ลักษณะ ดังนี้
๑. การอภิปราย ครูแนะนำการเรียนรู้ให้เด็กและช่วยให้เด็กแต่ละคน มีโอกาสแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนทำกับเพื่อน ทั้งกลุ่มย่อย หรือกลุ่มใหญ่หมดทั้งชั้น เด็กมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ตั้งคำถามที่กระตุ้นความสนใจ ให้เด็กได้คิด และพยายามค้นหาคำตอบ ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เช่น อะไรที่เด็กอยากรู้ ,อะไรที่เด็กต้องการ , อะไรที่เด็กรู้แล้ว
๒.การศึกษานอกสถานที่หรืองานในภาคสนาม เป็นกระบวนการที่สำคัญของการทำโครงการประสบการณ์ในระยะแรกครูจะพาเด็กไปศึกษานอกห้องเรียน เรียนรู้สิ่งต่างๆที่อยู่รอบบริเวณโรงเรียนเช่น บริเวณใกล้ๆโรงเรียน ร้านค้า ถนนหนทาง อาคารเรียน ดอกไม้ ต้นไม้ต่าง ๆ ช่วยให้เด็ก มีโอกาสพบปะกับบุคคลที่มีความรู้ต่างๆ จนทำให้เกิดหัวเรื่องที่เด็กสนใจอยากเรียน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ขั้นแรกของการศึกษาค้นคว้า
๓. การนำเสนอประสบการณ์เดิม เด็กทบทวนประสบการณ์เดิมในหัวเรื่องที่เด็กสนใจ
มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในประสบการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกับเพื่อนรวมทั้งแสดงคำถามที่ต้องการสืบค้นในหัวเรื่องที่เด็กสนใจ เด็กแต่ละคนสามารถที่จะเสนอประสบการณ์ที่ตนมีให้เพื่อนในชั้นได้รู้ด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลาย เช่นการวาดภาพ การเขียน หรือการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ
๔. การสืบค้น เป็นการเปิดกว้างให้ใช้แหล่งค้นคว้าข้อมูลอย่างหลากหลายตามหัวเรื่องที่สนใจ เด็กสัมภาษณ์พ่อแม่ ผู้ปกครองของตนเอง บุคคลในครอบครัวหาคำตอบของตนด้วยการทัศนศึกษานอกสถานที่
สัมภาษณ์วิทยากรท้องถิ่นที่มีความรอบรู้ในหัวเรื่อง สำรวจ วิเคราะห์วัตถุสิ่งของตนเอง หรือใช้หนังสือในชั้นเรียนหรือในห้องสมุดทำการค้นคว้า
๕. การจัดแสดง เป็นการนำความรู้ หรือผลงานที่เด็กได้ทำในโครงการออกนำเสนอ ซึ่งทำให้เด็กที่ทำโครงการได้นำผลงานมาแสดงให้เพื่อน ครูและผู้ปกครองผู้บริหารได้เห็นถึงขั้นตอนและ กระบวนการการเรียนรู้ที่เด็กได้ทำในโครงการ มีการจัดแสดงมีหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดป้ายนิเทศ การจัดนิทรรศการในชั้นเรียน การนำเสนอผลงานต่างๆ โดยการเล่าเรื่องการสนทนาและการตอบคำถามของเด็กๆ
ลักษณะทั้ง ๕ ประการดังที่กล่าวมา จะปรากฏในแต่ละระยะของงานโครงการซึ่งมีอยู่ ๓ ระยะ คือ
ระยะที่ ๑ เริ่มต้นโครงการ เป็นการทบทวนความรู้และความสนใจของเด็ก เด็กและครูใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอภิปรายเพื่อเลือกและปรับหัวเรื่องที่จะทำการสืบค้น หัวเรื่องอาจเสนอโดยเด็กหรือครูและเด็กร่วมกันโดยใช้หลักในการเลือกหัวเรื่องดังนี้
๑. เลือกหัวเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กมี อยู่ทุกวัน
๒. ทักษะพื้นฐานทางการรู้หนังสือและจำนวนได้นำมาบูรณาการอยู่ในหัวเรื่องที่ทำโครงการรวมทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา
๓. หัวเรื่องที่เลือกใช้เวลาทำโครงการได้อย่างน้อย ๑ สัปดาห์ และเหมาะที่จะทำการสำรวจค้นคว้าที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน เมื่อได้หัวเรื่องแล้ว ครูทำแผนที่ทางความคิด เพื่อระดมความคิดร่วมกับเด็กในหัวเรื่องนั้น และจัดแสดงแผนที่ทางความคิดที่ทำไว้ภายในชั้นเรียน
ระยะที่ ๒ พัฒนาโครงการ : เปิดโอกาสให้เด็กค้นคว้าภาคสนาม ประกอบด้วยการสืบค้นตามแหล่งข้อมูลต่างๆระยะนี้ถือเป็นหัวใจของโครงการ ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดหา จัดเตรียมแหล่งข้อมูลให้เด็กสืบค้น ไม่ว่าจะเป็นของจริง หนังสือ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆหรือแม้แต่การออกภาคสนามหรือไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ติดต่อวิทยากรท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้ทำการสืบค้น สังเกตอย่างใกล้ชิด และบันทึกสิ่งที่พบเห็นโดยการเขียนภาพที่เกิดจากการสังเกต สำรวจ คาดคะเน มีการอภิปรายเล่นบทบาทสมมติเพื่อแสดงความเข้าใจในความรู้ใหม่ที่ได้
ระยะที่ ๓ สรุปโครงการ : เป็นการประเมินสะท้อนกลับและแลกเปลี่ยนงานโครงการเป็นระยะสรุปเหตุการณ์ รวมถึงการเตรียมเสนอรายงานและผลที่ได้ ในรูปของการจัดแสดงการค้นพบ และจัดทำสิ่งต่าง ๆ ครูจัดให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเรียนรู้กับผู้อื่น เด็กช่วยกันเล่าเรื่องสรุปการทำโครงการให้ผู้อื่นฟัง โดยจัดแสดงนิทรรศการ สิ่งที่เป็นจุดเด่นให้เพื่อนห้องเรียนอื่นๆ ครู พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้บริหารได้เห็น ครูจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกช่วยแนะนำเด็กเลือกวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาแสดง จะช่วยให้เด็กได้ทบทวนและประเมินโครงการทั้งหมด ครูเสนอให้เด็กใช้จินตนาการ ความรู้ใหม่ที่ได้ผ่านทางศิลปะ สุดท้ายครูนำความคิดและความสนใจของเด็กไปสู่การสรุปโครงการและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน